วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

โรคคอตีบ สำหรับประชาชน



ความรู้เรื่องโรคคอตีบสำหรับประชาชน
โรคคอตีบ  เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ สาเหตุ ของโรคคอตีบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พิษที่ถูกขับออกมาจะไปที่กล้ามเนื้อหัวใจและปลายประสาท   ทำให้เกิดการอักเสบที่รุนแรง และอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากรับการรักษาไม่ทัน ติดต่อ ได้จากน้ำลาย ละอองเสมหะ การไอ จามรดกัน การดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน
คำแนะนำสำหรับประชาชนให้ยึดหลักการสำคัญ 3 ประการคือ
พึงระวัง : ก่อนอื่นประชาชนต้องตระหนักรู้อันตรายของโรคคอตีบ และงดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการ   ติดเชื้อ ได้แก่ การดื่มน้ำในที่จัดให้ฟรีตามสถานที่สาธารณะที่ใช้แก้วใบเดียว การไม่พาบุตรหลานไปเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคตามเกณฑ์ที่กำหนด การเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดโดยไม่ป้องกันตนเอง   การรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นโดยไม่ใช้ช้อนกลาง ถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องพึงระวัง
เลี่ยงคลุกคลี : ควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้มีอาการไข้ ไอ และมีฝ้าขาวในลำคอ หรือผู้ป่วย       โรคคอตีบ ผู้ที่กำลังรับการรักษา ต้องแยกตัวอย่างน้อย 3 สัปดาห์ โดยเลี่ยงการไปในที่ชุมชนเพื่อไม่ให้เชื้อโรคที่มีอยู่ในลำคอแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้  
รีบพบแพทย์ : ในผู้ที่มีอาการ ของโรคคอตีบได้แก่ ไข้ เจ็บคอ ให้สงสัยว่าอาจติดเชื้อโรคคอตีบ ให้เข้ารับการตรวจคัดกรองแยกโรคที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน และหากแพทย์วินิจฉัยว่า มีอาการเข้าได้กับโรคคอตีบต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาโรคอย่างเคร่งครัด ต้องรับประทานยาให้ตรงเวลา ต่อเนื่องจนครบกำหนด ควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อตรวจดูอาการของโรคอย่างใกล้ชิด

 หากมีคนในบ้านป่วยเป็นโรคคอตีบควรทำอย่างไร
1.       หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือใช้ภาชนะร่วมกัน
2.       ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยต้องได้รับยาปฏิชีวนะ ถึงแม้จะไม่มีอาการป่วย เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อคอตีบ
3.       เฝ้าระวังอาการไข้ ไอ เจ็บคอ และมีแผ่นฝ้าในลำคอ นานประมาณ 1 สัปดาห์ หากมีอาการดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์
4.       ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยต้องรับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบโดยเร็ว  หากผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบมาก่อนควรได้วัคซีนอย่างน้อย 3 ครั้ง หากเคยได้วัคซีนมา 3 ครั้ง เข็มสุดท้ายนานมากกว่า 1 ปี หรือเคยได้วัคซีนมา 4 ครั้งเข็มสุดท้ายนานมากกว่า 5 ปี ควรได้รับวัคซีนกระตุ้น 1 เข็ม ในกรณีที่อายุ > 7 ปีและผู้ใหญ่ ให้วัคซีน dT จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน

สิ่งสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อคอตีบคือ ในเด็กจะต้องได้รับวัคซีนให้ครบตามกำหนด ในประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ กลืนลำบาก  ระวังการดื่มน้ำในที่สาธารณะจากแก้วน้ำที่ใช้ร่วมกัน ผู้ป่วยและผู้มีอาการไข้ เจ็บคอต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
พึงระวัง เลี่ยงคลุกคลี รีบพบแพทย์


วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

โรคคอตีบ สำหรับเจ้าหน้าที่



ความรู้เรื่องโรคคอตีบสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

โรคคอตีบคืออะไร
          โรคคอตีบเป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae ที่สามารถสร้างพิษ (exotoxin) ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบมีเนื้อตายเป็นแผ่นฝ้าเกิดขึ้นในลำคอ และมีการตีบตันของทางเดินหายใจ  จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ นอกจากนี้  exotoxin ของเชื้อยังสามารถทำอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจและเส้นประสาทส่วนปลายอีกด้วย  โรคคอตีบเป็นโรคที่มีอันตรายสูง  โดยประมาณแล้วผู้ป่วย 10 ราย จะมีผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากทางเดินหายใจอุดตันหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
โรคคอตีบติดต่ออย่างไร
          โรคคอคีบติดต่อทางเดินหายใจ ( Droplet spread) จากการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เชื้อจะเข้าสู่สัมผัสทางปากหรือทางการหายใจ ไอ จาม บางครั้งติดต่อโดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อนหรือการดูดอมของเล่นร่วมกันในเด็กเล็ก
ใครสามารถแพร่โรคคอตีบได้บ้าง
          ผู้ป่วยโรคคอตีบหรือผู้ติดเชื้อคอตีบโดยไม่มีอาการ สามารถแพร่เชื้อที่อยู่ในจมูกหรือลำคอไปสู่ผู้อื่นได้
ระยะฟักตัวของโรคคอตีบ
          ประมาณ 2-5 วัน หลังจากได้รับเชื้อ
โรคคอตีบมีอาการอย่างไร
          เริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก  มีอาการไอเสียงก้อง  เจ็บคอ เบื่ออาหาร ต่อมาจะเริ่มมีแผ่นฝ้าสีขาวอมเทาในลำคอ  ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ  หายใจไม่ออก มีอันตรายถึงตายได้  หากเกิดภาวะแทรกซ้อน  ผู้ป่วยอาจมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ  นำไปสู่อาการหัวใจวาย  หรืออาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงของกล้ามเนื้อตา  แขนขา  หรือกระบังลมได้
โรคคอตีบรักษาอย่างไร
1.  รักษาโดยยาปฏิชีวนะ Penicillin หรือ Erythromycin แบบฉีด หรือรับประทานนาน 14 วัน
2.  นอกจากยาปฏิชีวนะแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้ยาทำลายพิษของเชื้อคอตีบหรือ
Diphtheria Antitoxin : DAT  แบบครั้งเดียว
3.  แยกผู้ป่วย ( lsolation) เพื่อลดการแพร่กระจายโรค
4.  หากผู้ป่วยมีอาการอุดกั้นทางเดินหายใจอาจต้องเจาะคอเพื่อช่วยหายใจ
5. หลังจากเป็นปกติ ผู้ป่วยต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด 3 ครั้ง เนื่องจากการป่วยด้วยโรคคอตีบไม่สามารถป้องกันโรคคอตีบในอนาคตได้
หากมีคนในบ้านป่วยเป็นโรคคอตีบควรทำอย่างไร
1.       หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือใช้ภาชนะร่วมกัน
2.       ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยต้องได้รับยาปฏิชีวนะ ถึงแม้จะไม่มีอาการป่วย เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อคอตีบ
3.       เฝ้าระวังอาการไข้ ไอ เจ็บคอ และมีแผ่นฝ้าในลำคอ นานประมาณ 1 สัปดาห์ หากมีอาการดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์
4.       ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยต้องรับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบโดยเร็ว  หากผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบมาก่อนควรได้วัคซีนอย่างน้อย 3 ครั้ง หากเคยได้วัคซีนมา 3 ครั้ง เข็มสุดท้ายนานมากกว่า 1 ปี หรือเคยได้วัคซีนมา 4 ครั้งเข็มสุดท้ายนานมากกว่า 5 ปี ควรได้รับวัคซีนกระตุ้น 1 เข็ม ในกรณีที่อายุ > 7 ปีและผู้ใหญ่ ให้วัคซีน dT จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน