วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา 2556 ประวัติวันวิสาขบูชา



วันวิสาขบูชา



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
           วันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่ง วันวิสาขบูชา 2556 ตรงกับวันที่ 24 พฤษภาคม 2556 ประวัติวันวิสาขบูชา ความสําคัญ วันวิสาขบูชา หมายถึง อะไรเรามีคำตอบ
           วันวิสาขบูชา 2556 ตรงกับวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม ในปีนี้นับเป็นอภิลักขิตกาลพิเศษ คือเป็นปีที่ครบ 2,600 พุทธศตวรรษ หรือ 2,600 ปี แห่งการอุบัติขึ้นของพระพุทธศาสนา และเชื่อว่าทุกคนรู้จักชื่อวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างวันวิสาขบูชากันดีอยู่แล้ว แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบความเป็นมา และความสำคัญของ วันวิสาขบูชา ถ้างั้นอย่ารอช้า...เราไปค้นหาความหมายของ วันวิสาขบูชา และอ่าน ประวัติวันวิสาขบูชา พร้อมๆ กันดีกว่าค่ะ


 ความหมายของ วันวิสาขบูชา

          คำว่า วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" ดังนั้น วิสาขบูชา จึงหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6

 การกำหนด วันวิสาขบูชา

          วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 7 หรือราวเดือนมิถุนายน

          อย่างไรก็ตาม ในบางปีของบางประเทศอาจกำหนด วันวิสาขบูชา ไม่ตรงกับของไทย เนื่องด้วยประเทศเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งที่ต่างไปจากประเทศไทย ทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนไปตามเวลาของประเทศนั้นๆ

ประวัติวันวิสาขบูชา และความสำคัญของ วันวิสาขบูชา

          วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่เกิด 3 เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวียนมาบรรจบกันในวันเพ็ญเดือน 6 แม้จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี ซึ่งเหตุการณ์อัศจรรย์ 3 ประการ ได้แก่...


วันวิสาขบูชา


1. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ
          เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "สมปรารถนา"
          เมื่อข่าวการประสูติแพร่ไปถึงอสิตดาบส 4 ผู้อาศัยอยู่ในอาศรมเชิงเขาหิมาลัย และมีความคุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะ ดาบสจึงเดินทางไปเข้าเฝ้า และเมื่อเห็นพระราชกุมารก็ทำนายได้ทันทีว่า นี่คือผู้จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวพยากรณ์ว่า "พระราชกุมารนี้จักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จะประกาศธรรมจักรพรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย" แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้นทรงรู้สึกอัศจรรย์และเปี่ยมล้นด้วยปีติ ถึงกับทรุดพระองค์ลงอภิวาทพระราชกุมารตามอย่างดาบส


วันวิสาขบูชา


2. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ

          หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี จนเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

          สิ่งที่ตรัสรู้ คือ อริยสัจสี่ เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์ และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ 4 แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ฌาน 3 คือ
          
           ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ " คือ ทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้
           ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการมีตาทิพย์สามารถเห็นการจุติและอุบัติของวิญญาณทั้งหลาย
           ยามสาม หรือยามสุดท้าย : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา

วันวิสาขบูชา



3. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป)

          เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง 45 ปี จนมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 6 พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวายก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

          เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน 6 นั้น
                                                           

 ประวัติความเป็นมาของ วันวิสาขบูชา ในประเทศไทย

          ปรากฏหลักฐานว่า วันวิสาขบูชา เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกา นั่นคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นกษัตริย์ลังกา พระองค์อื่นๆ ก็ปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบทอดต่อกันมา

          ส่วนการเผยแผ่เข้ามาในประเทศไทยนั้น น่าจะเป็นเพราะประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากมีพระสงฆ์จากลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

          สำหรับการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการบันทึกไว้ในหนังสือนางนพมาศ สรุปได้ว่า  เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ

          หลังจากสมัยสุโขทัย ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มากขึ้น ทำให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรก ในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ  และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญ ทำกุศล โดยทั่วหน้ากัน การรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครานี้ จึงถือเป็นแบบอย่างถือปฏิบัติในการประกอบพิธี วันวิสาขบูชา ต่อเนื่องมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

 วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ
          วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากล้วนมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระศาสดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้ และในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day  ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา และได้กำหนดวันวิสาขบูชานี้ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา โดยการที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกนั้น ได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน


วันวิสาขบูชา


 การประกอบพิธีใน วันวิสาขบูชา

การประกอบพิธีใน วันวิสาขบูชา จะแบ่งออกเป็น 3 พิธี ได้แก่

           1. พิธีหลวง คือ พระราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบในวันวิสาขบูชา
           2. พิธีราษฎร์ คือ พิธีของประชาชนทั่วไป
           3. พิธีของพระสงฆ์ คือ พิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจ

 กิจกรรมใน วันวิสาขบูชา
กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติใน วันวิสาขบูชา ได้แก่
           1. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร
           2. จัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด และปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
           3. ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล
           4. ร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
           5. ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
           6. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาตามโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ และเป็นการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา
           7. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ
           8. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์

 หลักธรรมที่สำคัญใน วันวิสาขบูชา ที่ควรนำมาปฏิบัติ

          ใน วันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรยึดมั่นในหลักธรรม ซึ่งหลักธรรมที่ควรนำมาปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ได้แก่
1. ความกตัญญู

          คือ การรู้คุณคน เป็นคุณธรรมที่คู่กับความกตเวที ซึ่งหมายถึงการตอบแทนคุณที่มีผู้ทำไว้ ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ เป็นเครื่องหมายของคนดี ทำให้ครอบครัวและสังคมมีความสุข ซึ่งความกตัญญูกตเวทีนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้ง บิดามารดาและลูก ครูอาจารย์กับศิษย์ นายจ้างกับลูกจ้าง ฯลฯ

          ในพระพุทธศาสนา เปรียบพระพุทธเจ้าเสมือนกับบุพการี ผู้ชี้ให้เห็นทางหลุดพ้นแห่งความทุกข์ ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงควรตอบแทนด้วยความกตัญญูกตเวทีด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และดำรงพระพุทธศาสนาให้อยู่สืบไป

2. อริยสัจ 4
          คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใน วันวิสาขบูชา ได้แก่

           ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต สภาวะที่ทนได้ยาก ซึ่งทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ การเกิด การแก่ และการตาย ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ ส่วนทุกข์จร คือ ทุกข์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การพลัดพลากจากสิ่งที่เป็นที่รัก หรือ ความยากจน เป็นต้น

           สมุทัย คือ ต้นเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของการเกิดทุกข์ และสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเกิดจาก "ตัณหา" อันได้แก่ ความอยากได้ต่างๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

           นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เป็นสภาพที่ความทุกข์หมดไป เพราะสามารถดับกิเลส ตัณหา อุปาทานออกไปได้

           มรรค คือ หนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ เป็นการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา มี 8 ประการ ได้แก่ ความเห็นชอบ  ดำริชอบ  วาจาชอบ กระทำชอบ  เลี้ยงชีพชอบ  พยายามชอบ  ระลึกชอบ  ตั้งจิตมั่นชอบ


3. ความไม่ประมาท
          คือการมีสติตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ล้วนต้องใช้สติ เพราะสติคือการระลึกได้ การระลึกได้อยู่เสมอจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ซึ่งความประมาทนั้นจะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมา ดังนั้นในวันนี้พุทธศาสนิกชนจะพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยความมีสติ

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วันพืชมงคล

วันพืชมงคล 2556 พิธีแรกนาขวัญ

วันพืชมงคล


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม 
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รัฐบาลไทย
          วันพืชมงคล 2556 หรือ พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตรงกับวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2556 วันนี้เรามี ประวัติวันพืชมงคล และความเป็นมาของวันพืชมงคลมาฝาก 

          หากเอ่ยชื่อ "วันพืชมงคล" แล้วเชื่อว่าหลายคนคงยิ้มแก้มปริเลยทีเดียว เพราะจะได้หยุดเรียน หยุดงาน พักผ่อนอยู่ที่บ้าน เนื่องจากเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่จะมีสักกี่คนรู้รายละเอียด รู้ความหมาย หรือรู้ความเป็นมาเป็นไปของ "วันพืชมงคล" อย่างแท้จริง เอาเป็นว่าเราไปเจาะลึกประวัติและความเป็นมาของ "วันพืชมงคล" กันดีกว่า... 

          วันพืชมงคล หมายถึง วันที่กำหนดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเก่ามาแต่โบราณที่เสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งพระราชพิธีนี้จะกระทำที่ท้องสนามหลวง ประกอบด้วย 2 พระราชพิธีคือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

          พิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัย และ ให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี

          พิธีแรกนาขวัญ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว

 ประวัติวันพืชมงคล

          พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พิธีแรกนา เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน แต่จะมอบอาญาสิทธิให้โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ และจะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

          ต่อมา สมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญแทนพระองค์ และมิได้ถือว่าเป็นพิธีหน้าพระที่นั่ง เว้นแต่เมื่อมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร สถานที่ประกอบพิธีในตอนแรก ๆ จึงไม่ตายตัว แล้วแต่จะทรงกำหนดให้ ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้น "พระราชพิธีพืชมงคล" จึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า"พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ"

          ส่วนพิธีกรรมนอกเหนือจากการทำให้เป็นตัวอย่าง ตามที่ทรงจำแนกไว้ 3 อย่าง 2 อย่างแรก ที่ว่า"อาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง" นั้น ทรงหมายถึง "พิธีพืชมงคล" อันเป็นพิธีสงฆ์ที่กระทำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่ว่า "บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง" นั้น ทรงหมายถึงพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์ 

          ดังนั้น จึงพอจะสรุปความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นี้ได้ว่าพิธีแรกนามุ่งหมายที่จะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร เพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา อันเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทยที่มีมาแต่ช้านานสืบมาจนปัจจุบันยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น เพราะการเกษตรซึ่งมีการทำนาเป็นหลักนั้น เป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตความเป็นอยู่และการเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย

          ส่วนวันประกอบพิธีนั้น ต้องเป็นวันที่ดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วย ขึ้น แรม ฤกษ์ยาม ให้ได้วันอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์ แต่ต้องอยู่ในระหว่างเดือน 6 เพราะเดือนนี้เริ่มจะเข้าฤดูฝน เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนา เมื่อโหรหลวงคำนวณได้วันอุดมมงคลพระฤกษ์ ที่จะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว สำนักพระราชวังจะได้ลงไว้ในปฏิทินหลวง ที่พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี และได้กำหนดไว้ว่าวันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

          พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแต่เดิมมาทำที่ทุ่งนาพญาไท เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ จึงจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ทั้งนี้ วันแรกนาขวัญเป็นวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้หยุดราชการ 1 วัน และมีประกาศให้ชักธงชาติตามระเบียบทางราชการ

 การประกอบพระราชพิธีวันพืชมงคล

          พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งข้าวที่นำเข้าพิธีพืชมงคลนั้นเป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้มีเมล็ดพืชต่าง ๆ รวม 40 อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว นอกจากนี้ยังมีข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนา บรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนี่ง เป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดฯ ให้ปลูกในสวนจิตรลดา และพระราชทานมาเข้าพิธีพืชมงคล

          โดยพันธุ์ข้าวพระราชทานนี้จะใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการจะบรรจุซอง แล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้

          ทั้งนี้ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปัจจุบันนี้ได้ดำเนินตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี เว้นแต่บางอย่างได้มีการดัดแปลงให้เหมาะแก่กาลสมัย อาทิ พิธีของพราหมณ์ก็มีการตัดทอนให้เหลือน้อยลง พระยาแรกนาก็ให้ตกเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีนั้นคัดเลือกจากข้าราชการสตรีโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดับ 3 - 4 คือขั้นโทขึ้นไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระราชพิธีทุกปี มีข้าราชการขั้นผู้ใหญ่ ทูตานุทูต และประชาชนได้มาชมการแรกนาเป็นจำนวนมาก 

          สำหรับการประกอบพิธีนั้นก็จะถูกกำหนดขึ้นโดยโหรหลวง ในระหว่างพิธีอันสวยงามนี้ ก็จะมีการทำนาย ปริมาณน้ำฝน ในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง และแล้วพระยาแรกนาก็จะทำการเลือกผ้า 3 ผืน ที่มีความยาวต่างขนาดกัน ตามชอบใจ ผ้าทั้ง 3 ผืน นี้จะดูคล้ายกัน ถ้าพระยาแรกนาเลือกผืนที่ยาวที่สุดก็ทายว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมีน้อย ถ้าเลือกผืนที่สั้นที่สุดทายว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมาก และถ้าเลือกผืนที่มีความยาวปานกลาง ทายว่ามีปริมาณน้ำฝนพอประมาณ

          หลังจากสวมเสื้อผ้าเรียกว่า "ผ้านุ่ง" เรียบร้อยแล้ว พระยาแรกนาก็จะไถลงไปบนพื้นที่ท้องสนามหลวงด้วยพระนังคัลสีแดงและสีทอง ซึ่งลากโดยพระโคผู้สีขาว ตามขบวนด้วยเทพีทั้ง 4 ผู้ซึ่งหาบกระเช้าทองและกระเช้าเงินที่บรรจุด้วยเมล็ดข้าวเปลือก นอกจากนี้ก็มีคณะพราหมณ์เดินคู่ไปกับขบวนพร้อมทั้งสวดและเป่าสังข์ไปพร้อมกัน

          เมื่อเสร็จจากการไถแล้วพระโคก็จะได้รับการป้อนพระกระยาหารและเครื่องดื่ม 7 ชนิด คือ เมล็ดข้าว ถั่ว ข้าวโพด หญ้าเมล็ดงา น้ำและเหล้า ไม่ว่าพระโคจะเลือกกินหรือดื่มสิ่งใด ก็ทายว่าปีนี้จะอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งที่พระโคเลือกนั้น 

          เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ประชาชนจะพากันแย่งเก็บเมล็ดข้าวที่หว่านโดยพระยาแรกนา เพราะว่าเมล็ดข้าวนี้ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง ชาวนาก็จะใช้เมล็ดข้าวนี้ผสมกับเมล็ดข้าวของตน เพื่อให้พืชผลในปีที่จะมาถึงนี้อุดมสมบูรณ์

          สำหรับพระโคที่จะเข้าพระราชพิธีแรกนาขวัญ จะถูกเลี้ยงดูอย่างดีในทุ่งหญ้าที่จังหวัดราชบุรี พระโคที่ใช้ในพระราชพิธี จะต้องมีลักษณะที่ดีขาดเกินไม่ได้คือ หูดี ตาดี แข็งแรง เขาทั้งสองตั้งตรงสวยงาม พระโคแต่ละคู่ต้องสีเหมือนกัน ซึ่งจะมีการคัดเลือกพระโคเพียงสองสีเท่านั้น คือ สีขาวสำลีและสีน้ำตาลแดง และเจาะจงแต่เพศผู้เท่านั้นและต้องผ่านการ "ตอน" เสียก่อนด้วย  

          อนึ่ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นวันเกษตรกรประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน 

 กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันพืชมงคล  

          1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ

          2. จัดนิทรรศการ แสดงประวัติความเป็นมา และความสำคัญของวันพืชมงคลรวมทั้งพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

 พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2556 มีดังนี้ 

          สำหรับในปี พ.ศ. 2556 นี้ ปฏิทินหลวงได้กำหนดวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ 

          1. พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ เป็นวันสวดมนต์เริ่มการพระราชพิธีพืชมงคล และถือเป็น "วันเกษตรกร" ประกอบพระราชพิธี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยจะประกอบพิธีในวันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 15.00 น. 

          และเวลาประมาณ 17.00 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในการพระราชพิธีพืชมงคล ทรงหลั่งน้ำสังข์ ทรงเจิม พระราชทานพระธำมรงค์กับพระแสงปฏักแก่ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่พระยาแรกนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง 

          2. พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ จะประกอบพระราชพิธี ในวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2556 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยฤกษ์ไถหว่าน คือ ระหว่างเวลา 08.19 – 08.49 น.

          ราชชื่อผู้ทำหน้าที่ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระยาแรกนา  

          - นายชวลิต  ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เทพีคู่หาบทอง 

          - นางสาวสุมาลี จำเริญ นิติกรชำนาญการ กรมปศุสัตว์

          - นางสาวสุวิสาข์ เกตุอินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ กรมส่งเสริมการเกษตร 

เทพีคู่หาบเงิน 

          - นางสาวพชร ลาภผล นักวิชาการประมงปฏิบัติการ กรมประมง 

          - นางสาวกาญจนา มาลัยกฤษณะชาลี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วันฉัตรมงคล


ความสำคัญ วันฉัตรมงคล เป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ คือพระองค์ได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วจึงได้เสร็จนิวัติประเทศไทย และรัฐบาลไทยได้น้อมเกล้าฯ จักพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 เหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคลรำลึก
พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก
ขั้นเตรียมงานพระราชพิธี เริ่มตั้งแต่พิธีตักน้ำ และทำพิธีเสกน้ำ ณ เจดีย์สถานสำคัญจากสถานที่ตักน้ำ ก่อนที่จะส่งเข้ามาทำพิธีต่อไปในพระนคร น้ำที่เสกนี้ใช้สำหรับถวายสำหรับถวายเป็น น้ำอภิเษก และสรงมุรธาภิเษก โดยมีระเบียบกำหนดให้ใช้น้ำจากแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำคงคา ยมนา อิรวดี มหิ และสรภู ในชมพูทวีป หรือที่เรียกว่า "ปัญจมหานที" แต่เนื่องจากประเทศไทยอยู่ห่างจากชมพูทวีปมาก ไม่สะดวกในการเดินทาง จึงเปลี่ยนมาใช้น้ำจากแม่น้ำ18 แห่ง จากภายในพระราชอาณาจักรแทน นอกจากนี้ยังมีพิธีจารึกดวงพระราชสมภพในพระสุพรรณบัฏ และแกะพระราชสัญจกร
พิธีเบื้องต้น เริ่มตั้งแต่ตั้งนำวงด้าย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์
พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก เริ่มจากสรงมุรธาภิเษก ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพราหมณ์นั่งประจำทิศทั้ง 8 กล่าวคำถวายพระพรชัยมงคล และถวายดินแดนให้อยู่ในความคุ้มครองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อจากนั้นทรงรับน้ำอภิเษก ขึ้นสู่พระที่นั่งภัทรบิฐพระราชอาสน์องค์ใหม่ พระมหาราชครูเริ่มร่ายเวทย์พิธีพราหมณ์เมื่อร่ายเวทย์เสร็จแล้วจึงกราบทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธย ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ เครื่องหมายแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ ได้แก่พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี ฉลองพระบาทเมื่อทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาสวมพระเศียร เจ้าพนักงานจะประโคมดนตรี ทหารยิงปืนใหญ่ พระสงฆ์เคาะระฆัง และสวดชัยมงคลคาถาทั่วพระราชอาณาจัก หลังจากนั้นพราหมณ์ถวายพระแสงศาสตราวุธเป็นอันเสร็จพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก
พิธีเบื้องปลาย เมือเสร็จพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้ว จะเสด็จออก ณ มหาสมาคม เพื่อให้เหล่าข้าราชการ และประชาชนได้ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวโรกาสทรงเข้าพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก และตั้งแต่รัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา ได้มีพระราชพิธีประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี นอกจากนั้นเสร็จพระราชดำเนินเพื่อประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภกษัตริยาธิราชเจ้า ในพระบรมมหาราชวัง
เสด็จเยี่ยมราษฎร เมื่อทรงเสร็จพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยงข้องแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนิน ให้ราษฎรได้มีโอกาสชมพระบารมี
การจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองวันฉัตรมงคลในอดีต
แต่เดิมเป็นงานพิธีเฉลิมฉลองของเจ้าพนักงานในพระราชฐานที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในหกเดือน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเจ้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำดิว่า ในอารยประเทศย่อมนับถือว่า วันคล้ายวันบรมราชาบรมราชาภิเษกเป็นวันมงคลสมัยควรเฉลิมฉลอง จึงทรงริเริ่มวันฉัตรมงคลขึ้นแต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่อธิบายใหฟังก็ไม่เข้าใจ เผอิญวันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม จึงทรงอธิบายว่า ฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภคทำให้ไม่มีใครติดใจสงสัย
พระบาทสมเด็จพระจอมเจ้าอยู่หัวได้มีการเฉลิมฉลองโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ในวันขึ้น 13 ค่ำเดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้วยเหตุนี้จึงถือว่า การเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มมีในรัชกาลของพระบาลสมเด็จพระจอมเจ้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก
ในสมัยรัชกาลที่ 5 วันบรมราชาภิเษกตรงกับเดือน 12 จะโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 ก็ไม่มีผู้ใหญ่ท่านใดยินยอม จึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงตรงกับวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูโภคอยู่ตามเดิม รูปงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นดังนี้จนถึงปัจจุบัน
การจัดงานวันฉัตรมงคลในปัจจุบัน ในขั้นตอนการจัดงานวันฉัตรมงคลในปัจจุบัน มักกำหนดให้เป็น 3 วัน คือ วันที่ 3 พฤษภาคม มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน คือ พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่พระบรมราชบุพการี ซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งในวันนี้ได้เพิ่มพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพลที่จะพระราชทานแก่หน่วยทหารบางหน่วยเข้าไว้ด้วย
ในวันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันเริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล เจ้าพนักงานจะได้อัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระมหาปฎลเศวตฉัตร พระครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล แล้วทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
ในวันที่ 5 ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ทรงบูชาเครื่องกกุธภัณฑ์ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภช พระมหาเศวตฉัตรและราชกกุธภัณฑ์
ตอนเย็นพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่ผู้มีความดีความชอบ แล้วเสด็จนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่ปราสาทพระเทพบิดร เป็นเสร็จพระราชพิธี
ในวันฉัตรมงคลสำนักพระราชวังได้เปิดปราสาทหลายแห่งให้ประชาชนได้เข้าชมและถวายบังคม
งานพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นเครื่องหมายยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติมาครบรอบปีด้วยดีอีกวาระหนึ่ง และตลอดเวลาที่ผ่านมา พระองค์ได้ประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ และปวงชนชาวไทยนับอเนกอนันต์
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ประชาชนชาวไทยจึงได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองเนื่องในวันฉัตรมงคลเป็นประจำทุกปี
และเนื่องในมหามงคลสมัย ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบรอบปี 50 ปีในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539 ทางราชการจัดงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระอันเป็นมงคลยิ่ง
กิจกรรมที่ควรปฏิบัติเนื่องในวันฉัตรมงคล
1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
2. ร่วมทำบุญตักบาตร ประกอบพิธีทางศาสนาถวายเป็นพระราชกุศล
3. น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยพร้อมเพรียงกัน กล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี ถวายชัยมงคลให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมหามิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยไปชั่วกาลยิ่งยืนนาน

วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วันแรงงาน


วันแรงงานแห่งชาติ

เพื่อเป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในคุณภาพ ความเป็นอยู่ ตลอดจนสิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาค ของทุกปีเป็น "วันแรงงานแห่งชาติ" ตามที่คณะพรรคสังคมนิยมระหว่างชาติได้กำหนดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432
          ในประเทศยุโรปส่วนมาก ก็กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานเช่นเดียวกัน และเรียกว่า "วันกรรมกรสากล" หรือ "วันเมย์เดย์" ยกเว้น ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา ที่ถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนเป็นวันแรงงาน

ความเป็นมา 
ในระบบเศรษฐกิจ แรงงานถือเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลผลิต พลังของผู้ใช้แรงงานจะแฝงอยู่ในผลผลิตทุกชิ้น ดังนั้นความมั่นคงก้าวหน้าหรือความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ แรงงานย่อมมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีผู้ใช้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ทั้งในด้านผลประโยชน์ค่าตอบแทน และสวัสดิการ
              ดังนั้นเพื่อเป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในคุณภาพ ความเป็นอยู่ ตลอดจนสิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น " วันแรงงานแห่งชาติ " ตามที่คณะพรรคสังคมนิยมระหว่างชาติได้กำหนดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2432
ในประเทศยุโรปส่วนมาก ก็กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานเช่นเดียวกัน และเรียกว่า "วันกรรมกรสากล" หรือ วันเมย์เดย์ ยกเว้น ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา ที่ถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนเป็นวันแรงงาน
       
              ในเมืองไทยเริ่มมีการจัดการบริหารแรงงานขึ้นใน พ.ศ.2475 เมื่อรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดหางานประจำท้องถิ่น พ.ศ.2475
       
               เมื่อ พ.ศ. 2477 ได้มีการจัดตั้งกองกรรมกรขึ้น ทำหน้าที่ด้านการจัดหางานและศึกษาภาวะความเป็นอยู่ของคนงานทั่วไป พ.ศ. 2499 รัฐบาลได้ ขยายกิจการด้านแรงงานสัมพันธ์มากขึ้นและประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับแรกในปี พ.ศ. 2508 และปีเดียวกันได้มีการตั้งกรมแรงงานขึ้น อีกทั้งประกาศใช้ พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ปัจจุบัน การบริหารแรงงานอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมมีงานสำคัญเกี่ยวข้อง กับแรงงานดังนี้
              
1. การจัดหางาน ด้วยการช่วยเหลือคนว่างงานให้มีงานทำ ช่วยเหลือนายจ้างให้ได้คนมีคุณภาพดีไปทำงาน รวบรวมเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการทำงาน แหล่งงาน ภาวะตลาดแรงงาน
2. งานแนะแนวอาชีพ ให้คำปรึกษาแก่เยาวชนและผู้ประสงค์จะทำงาน เพื่อให้สามารถเลือกแนวทางประกอบอาชีพที่เหมาะสมตามความถนัด ความ สามารถทางร่างกาย คุณสมบัติ บุคลิกภาพและความเหมาะสมแก่ความต้องการทางเศรษฐกิจ
3. การพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมพัฒนาฝีมือแก่คนงานและเยาวชนที่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อโดยการฝึกแบบเร่งรัด
4. งานคุ้มครองแรงงาน วางหลักการและวิธีการเกี่ยวกับชั่วโมงทำงาน วันหยุดงาน ตลอดจนการจัดให้มีสวัสดิการต่างๆ
5. งานแรงงานสัมพันธ์ทำการส่งเสริมและสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจถึงลักษณะและสภาพของปัญหา ตลอดจน วิธีการที่เหมาะสมที่จะช่วยขจัดความเข้าใจผิดและข้อขัดแย้งอื่นๆ
 

หน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 
หน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
1.    การจัดหางาน ด้วยการช่วยเหลือคนว่างงานให้มีงานทำ ช่วยเหลือนายจ้างให้คนมีคุณภาพในการทำงาน รวบรวมเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการทำงาน แหล่งงาน ภาวะตลาดแรงงาน
2.    งานแนะแนวอาชีพ ให้คำปรึกษาแก่เยาวชนและผู้ประสงค์จะทำงานเพื่อให้สามารถเลือกแนวทางประกอบอาชีพเหมาะตามความถนัด ความสามารถทางร่างกาย คุณสมบัติ บุคลิกภาพและความเหมาะสมแก่ความต้องการเศรษฐกิจ
3.    การพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมพัฒนาฝีมือแก่คนงานและเยาวชน ที่โอกาสศึกษาต่อ
4.    งานคุ้มครองแรงงาน วางหลักการและวิธีการเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน วันหยุดงาน ตลอดจนสวัสดิการต่าง ๆ
5.    งานแรงงานสัมพันธ์ ทำการส่งเสริมและสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

ด้านกรรมกร ได้จัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานขึ้นหลายกลุ่ม และรวมกันตั้งสภาองค์การลูกจ้างขึ้น ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิให้กับผู้ใช้แรงงาน ปัจจุบันมี 3 สภา ได้แก่
1.    สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย
2.    สภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย
3.    สภาองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย