วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

วันสิ้นปี 2559 ตรงกับวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม ซึ่งถือเป็นวันหยุดสิ้นปี 2559 ของหน่วยงานราชการและเอกชน ประวัติวันสิ้นปี เป็นมาอย่างไร ไปดูกัน
 
          วันสิ้นปี หรือ วันส่งท้ายปีเก่า คือ วันสุดท้ายของปี ซึ่งตรงกับวันที่ 31 ธันวาคม ตามปฏิทินเกรโกเรียน (Gregorian Calendar) ซึ่งดัดแปลงมาจากปฏิทินจูเลียน ใช้กันแพร่หลายในประเทศตะวันตก โดยประกาศใช้ครั้งแรกโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 13 เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2125 (ค.ศ. 1582) โดย วันสิ้นปี 2558 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม 

          ปัจจุบันนิยมใช้วันสิ้นปีกันทั่วโลก ทางการกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ คืนวันนี้จะมีการจัดงานนับถอยหลัง (countdown) เพื่อเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ในเวลาเที่ยงคืนตามเมืองใหญ่ทั่วโลกซึ่งเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน โดยมักมีการจุดพลุเฉลิมฉลอง สำหรับวันสิ้นปีของประเทศไทย นอกจากจะเป็นวันหยุดของหน่วยงานราชการ ธนาคาร บริษัทต่าง ๆ แล้ว ก็ยังมีการจัดกิจกรรม สวดมนต์ข้ามปี เพื่อเป็นสิริมงคล และถือเป็นนิมิตหมายของการตั้งใจทำความดีของผู้ร่วมกิจกรรมอีกด้วย

          เมืองที่ส่งท้ายวันสิ้นปีเข้าสู่ปีใหม่เรียงตามลำดับเวลา 

          (**ในวงเล็บเป็นเวลาประเทศไทยซึ่งตรงกับเวลาเที่ยงคืนของแต่ละเมือง)

          - ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย (วันที่ 31 ธันวาคม เวลา 20.00 น.)
          - โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (วันที่ 31 ธันวาคม เวลา 22.00 น.)
          - ฮ่องกง (วันที่ 31 ธันวาคม เวลา 23.00 น.)
          - กรุงเทพฯ ประเทศไทย (วันที่ 1 มกราคม เวลา 00.00 น.)
          - ปารีส ประเทศฝรั่งเศส/เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี (วันที่ 1 มกราคม เวลา 06.00 น.)
          - ลอนดอน สหราชอาณาจักร (วันที่ 1 มกราคม เวลา 07.00 น.)
          - ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล (วันที่ 1 มกราคม เวลา 09.00 น.)
          - นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา/โทรอนโต ประเทศแคนาดา (วันที่ 1 มกราคม เวลา 12.00 น.)

            การเฉลิมฉลองวันสิ้นปีที่ไทม์สแควร์ มหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ

          ไทม์สแควร์ คือ สถานที่จัดงานนับถอยหลังสู่ปีใหม่ที่โด่งดังไปทั่วโลก โดยในคืนวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปีจะมีลูกบอลหล่นลงมาจากอาคารวันไทม์สแควร์ เทศกาลนี้ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) นับแต่นั้นเป็นต้นมาไทม์สแควร์ได้กลายเป็นสถานที่หลักในการนับถอยหลังสู่ปี ใหม่ของนครนิวยอร์ก ซึ่งในคืนนั้นเองผู้คนหลายหมื่นคนจะมารวมตัวกันที่นี่เพื่อชมลูกบอลวอ เทอร์ฟอร์ดคริสตัลถูกหย่อนลงมาจากยอดอาคาร (โดยลูกบอลจะถูกหย่อนลงมาช้า ๆ แต่จะไม่ตกถึงพื้นตามที่หลายคนเข้าใจ)

          สำหรับลูกบอลยักษ์นี้มาแทนที่การแสดงพลุดอกไม้ไฟอันฟุ่มเฟือยในคืนก่อนวันปี ใหม่ที่เคยถูกจัดในช่วงปี ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447)-ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เทศกาลนี้ถูกระงับชั่วคราวและแทนที่ด้วยการสั่นระฆังตามโบสถ์แทน เนื่องจากทางรัฐบาลต้องการให้ทุกหนแห่งในนิวยอร์กดับไฟมืดลงเพื่ออำพรางตัว เมืองให้พ้นจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายเยอรมนี

          อย่างไรก็ตาม หลังจากช่วงสงครามเทศกาลส่งท้ายวันสิ้นปีก็จัดขึ้นตามเดิม ปัจจุบันการนับถอยหลังสู่ปีใหม่ และไทม์สแควร์ได้สรรค์สร้างวัฒนธรรมการฉลองปีใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์และดึงดูด สายตาจากคนทั่วโลก ส่วนลูกบอลที่ใช้ได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาซึ่งปัจจุบัน กลายเป็นลูกบอลที่ติดด้วยแสงไฟแอลอีดี ลูกบอลแอลอีดีนี้ถูกใช้ครั้งแรกในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550)
          และในปีถัดมาในการขึ้นปีใหม่ ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ลูกบอลแอลอีดีถูกทำให้ใหญ่ขึ้นและใช้รูปแบบนี้ถาวร และยังใช้ในเทศกาลอื่น ๆ เช่น วันวาเลนไทน์หรือวันฮาโลวีน ในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) ซึ่งเป็นการสิ้นสุดสหัสวรรษที่ 20 มีรายงานว่าการนับถอยหลังเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ที่ไทม์สแควร์ทำให้ผู้คนล้นไท ม์สแควร์ ประมาณกันว่าน่าจะมีคนมาร่วมงานกันถึง 2 ล้านคน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่วันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488)
ปีใหม่ หรือ วันขึ้นปีใหม่ 2560 หรือ ปีใหม่ภาษาอังกฤษ Happy New Year 2017 ใกล้มาถึงแล้ว วันขึ้นปีใหม่ หลาย ๆ คนคงชอบที่จะได้หยุดหลาย ๆ วัน ว่าแต่ที่หยุดและฉลองปีใหม่กันอยู่ทุกปี แล้วรู้หรือไม่ว่า ประวัติปีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ มีความเป็นมาอย่างไร วันนี้เรามีความหมายวันขึ้นปีใหม่ ประวัติวันขึ้นปีใหม่ มาฝาก  

ความหมายของวันขึ้นปีใหม่

          วันขึ้นปีใหม่ ตามความหมายในพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า "ปี" หมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน หรือ เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ ดังนั้น "ปีใหม่" จึงหมายถึง การขึ้นรอบใหม่หลังจาก 12 เดือน หรือ 1 ปี

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่

          วันขึ้นปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตามความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนีย เริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทินโดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก ๆ 4 ปี

          ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติก ได้นำการปฏิบัติของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้น จนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ (ประมาณ 46 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อโยซิเยนิส มาปรับปรุงให้หนึ่งปีมี 365 วัน โดยทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทิน เมื่อเพิ่มให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ให้ทุกๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน

          และในวันที่ 21 มีนาคม ตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตามทิศตะวันตก วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมงเท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March)

          แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้นพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วัน จากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (ใช้เฉพาะในปี พ.ศ. 2125) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่าปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา

ความเป็นมาวันปีใหม่ในประเทศไทย
          สำหรับวันปีใหม่ในประเทศไทยนั้น แต่เดิมเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนา ที่ถือช่วงเหมันต์หรือหน้าหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ คือถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ ดังนั้นในสมัยโบราณเราจึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย

          แต่การนับวันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ตามวันทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ ย่อมคลาดเคลื่อนกันไปในแต่ละปี ดังนั้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปี พ.ศ. 2432 (ร.ศ. 108) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยนับแต่นั้นมา เพื่อวันปีใหม่จะได้ตรงกันทุกปีเมื่อนับทางสุริยคติ (แม้ว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีต่อ ๆ มาจะไม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน แล้วก็ตาม) ดังนั้นจึงถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนับแต่นั้นมา  อย่างไรก็ดีประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่

          ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการจึงเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน มักจะไม่มีงานรื่นเริงอะไรมากนักและเห็นสมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก จนแพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อ ๆ มา โดยในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้มีการจัดงานปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด มีชื่อทางราชการ "วันตรุษสงกรานต์"

newyear2
เหตุผลเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม          ต่อมาก็ได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานคณะกรรมการ และที่ประชุมก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ในวันที่ 24 ธันวาคม ในสมัยคณะรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเหตุผลสำคัญก็คือ

          เป็นการไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ

          เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมศาสนาพุทธ

          ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก

          เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

          ตั้งแต่นั้นมา วันขึ้นปีใหม่ของไทยจึงตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เหมือนดังเช่นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2559

วันรัฐธรรมนูญ
10 ธันวาคม ของทุกปี
ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2559
 
วันรัฐธรรมนูญ
10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ

      10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นฉบับถาวร เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
 

      การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทยเนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลง การปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ใช้กันมาเป็นเวลา 700 ปีเศษ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

สาเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย

    หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผลอันนี้ได้กระทบมาถึงไทยด้วย พระองค์ได้แก้ไขเศรษฐกิจโดยปลดข้าราชการออก ยังความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ

    อิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

    รัฐบาลได้ออกกฎหมายเก็บภาษี อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดินจากราษฎร

     จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหาร และราษฎรทั่วไปจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการปฎิวัติ มีคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร ซึ่งประกอบด้วยพันเอกพระยาพหลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์เป็นผู้บริหารประเทศ

     วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว" สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ได้แก่ การที่กำหนดว่า อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคล คณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ

    พระมหากษัตริย์
    สภาผู้แทนราษฎร
    คณะกรรมการราษฎร
    ศาล


     ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฎิบัติราชการต่างๆจะต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎร จึงจะใช้ได้สถาบันที่เกิดใหม่คือ สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้ว จึงจะมีผลบังคับได้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้ว พิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม

ประวัติวันรัฐธรรมนูญ

     กระทั่งถึงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวรซึ่งมีหลักการต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิ ได้เปลี่ยนระบอบการปกครอง เป็นการปกครองแบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริการราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทน รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย แต่อย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนได้ หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐซึ่งมีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ ในส่วนเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็น ที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
วันรัฐธรรมนูญ
10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ

ประวัติรัฐธรรมนูญไทย

     อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ พ.ศ. 2475 มาจนถึงปัจจุบันรัฐธรรมนูญไทยมีทั้งสิ้นประมาณ 25 ฉบับ แต่ถ้านับเฉพาะฉบับที่สำคัญจะมีเพียง 18 ฉบับดังนี้

ฉบับที่ 1. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2427 ประกาศใช้บังคับเมื่อ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 5 เดือน 13 วัน

ฉบับที่ 2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ประกาศใช้บังคับเมื่อ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 13 ปี 5 เดือน

ฉบับที่ 3. รัฐธรรมนูญฉบับราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รวมอายุการประกาศและการบังคับใช้ 1 ปี 5 เดือน 28 วัน

ฉบับที่ 4. รัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รวมอายุการประกาศใช้ 1 ปี 4 เดือน 14 วัน

ฉบับที่ 5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ประกาศและบังคับใช้เมื่อ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2492 รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 2 ปี 8 เดือน 6 วัน

ฉบับที่ 6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ประกาศและบังคับใช้ วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2495 รวมอายุและประกาศบังคับใช้ 6 ปี 7 เดือน 12 วัน

ฉบับที่ 7. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2502 รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 9 ปี 4 เดือน 20 วัน

ฉบับที่ 8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 3 ปี 4 เดือน 20 วัน

ฉบับที่ 9. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 รวมอายุการประกาศและบังคับใช้เมื่อ วันที่ 15 ธันวาคม 2515 รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี 9 เดือน 22 วัน

ฉบับที่ 10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517 รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 2 ปี
 
ฉบับที่ 11. รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2519 รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี
 
ฉบับที่ 12. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี 13 วัน
 
ฉบับที่ 13. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2528)
 
ฉบับที่ 14. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
 
ฉบับที่ 15. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
 
ฉบับที่ 16. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
 
ฉบับที่ 17. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2549 (ฉบับชั่วคราว)
 
ฉบับที่ 18. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (รัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ)

 
วันรัฐธรรมนูญ
10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559





วันพ่อแห่งชาติ ในประเทศไทย
        สำหรับวันพ่อแห่งชาติของประเทศไทย ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 และยังได้มีการกำหนดให้ดอกพุทธรักษา เป็นสัญลักษณ์ วันพ่อแห่งชาติ

          ทั้งนี้ นอกจากวันที่ 5 ธันวาคม จะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็น "วันพ่อแห่งชาติ" แล้ว ยังถือว่าวันนี้เป็น "วันชาติของไทย" อีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยมีการกำหนดวันชาติให้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรกในปี พ.ศ. 2482 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ 

          ซึ่ง "วันชาติ" ของไทยนั้นอยู่มานานถึง 21 ปี จนวันที่ 21 พฤษภาคม 2503 ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยเหตุที่เปลี่ยนเพราะมีข้อไม่เหมาะสมหลายประการ คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่าเพื่อให้เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน 

          จึงควรถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยยกเลิกวันชาติ ในวันที่ 24 มิถุนายนเสีย ดังนั้นนับแต่ปี 2503 ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น "วันชาติ" ของไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา