วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เรื่อง การออกคาราวานตรวจสุขภาพ ปีงบประมาณ 2559


ตารางออกคาราวานตรวจสุขภาพประจำปีการงบประมาณ 2559
วันที่  21  ตุลาคม  2558          บ้านสินเจริญ     ม.6       สถานที่  ศาลากลางบ้าน
วันที่  22  ตุลาคม  2558          บ้านสร้างกวาง   ม.8       สถานที่  ศาลาประชาคม
วันที่  29  ตุลาคม  2558          บ้านหม้อ          ม.9      สถานที่  ศาลากลางบ้าน
วันที่  30  ตุลาคม  2558          บ้านโนนสวาง    ม.7       สถานที่  ศาลากลางบ้าน
วันที่   2  พฤศจิกายน  2558    บ้านหม้อ         ม.4        สถานที่  ศาลากลางบ้าน
วันที่   3  พฤศจิกายน  2558    บ้านคอนเลียบ   ม.3        สถานที่  รพ.สต.บ้านคอนเลียบ
วันที่   4  พฤศจิกายน  2558    บ้านเตาไห        ม.1        สถานที่  ศาลากลางบ้าน
วันที่   5  พฤศจิกายน  2558    บ้านคอนสวรรค์ ม.5        สถานที่  ศาลาเอนกประสงค์
วันที่   6  พฤศจิกายน  2558    บ้านนาพัง        ม.2        สถานที่  ศาลากลางบ้าน
          การออกคาราวานตรวจสุขภาพครั้งนี้แบ่งออกเป็นจุดให้บริการดังนี้ต่อไปนี้  (เริ่มให้บริการ เวลา  06.00 น. )
-          ซักประวัติ
    ชั่งน้ำหนัก , วัดส่วนสูง, วัดความดัน,
    วัดรอบเอว , วัดสะโพก , คำนวณ  BMI
( โดย อสม. )
-          เจาะปลายนิ้วตรวจเลือดคัดกรองเบาหวาน  ( โดย อุภาพร + อสม. )
-          ตรวจคัดกรองวัดสายตา   ( โดย ณัฐนันท์ + อสม.)
-          ตรวจคัดกรองฟัน  ( โดย อสม. )
-          ตรวจคัดกรอง มะเร็งเต้านม  ( โดย ศรินญา )
-          สรุป  (  จนท.รพ.สต.)
-          ซักประวัติ  และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก  ( อสม.) ( จนท.รพ.สต.)
แต่ละจุดต้องแบ่ง อสม.รับผิดชอบและเตรียมวัสดุอุกรณ์ มาด้วย  และ นัด อสม. เตรียมสถานที่ ก่อนวันออกคาราวาน 1 วัน

วันที่ออกคาราวานตรวจสุขภาพ หลังจากที่ตรวจสุขภาพเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่และอสม. จะออกเยี่ยมบ้าน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถมารับการได้ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้  ผู้ป่วยเรื้อรังที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้  ฯ



โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านคอนเลียบ  ตำบลเตาไห อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี   อุภาพร หอมมาลัย

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

วันออกพรรษา 2559 ประวัติวันออกพรรษา 
วันออกพรรษามีความสำคัญอย่างไร


วันออกพรรษา

 วันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
 
     วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นสำคัญวันหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์ คือ เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา หรือออกจากพรรษาที่ได้อธิษฐานเข้าจำพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน ในวันออกพรรษาในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นวันที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา และแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่ชั้นดาวดึงส์

     วันออกพรรษา หมายถึงวันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยที่ต้องอยู่ประจำที่หรือในวัดแห่งเดียวตลอด 3 เดือน  ในฤดูฝน กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แล้วอยู่ประจำที่หรือวัดนั้นเรื่อยไป จนสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากวันออกพรรษาแล้วก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้

     วันออกพรรษา เรียกว่าอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา” หรือ “วันมหาปวารณา” คือวันที่พระสงฆ์ทำปวารณากรรม คือเปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยเมตตาจิตได้ เมื่อได้เห็นได้ทั้งหรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน
วันออกพรรษา วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก
วันออกพรรษา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
หลังจากทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา

วันออกพรรษาหรือวันพระพุทธเจ้าเปิดโลก

       ในพรรษาที่ 7 นับแต่ปีที่ตรัสรู้ พระพุทธองค์จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่หนึ่งพรรษา (3เดือน) ครั้นถึงวันปวารณาออกพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธองค์จึงเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ทางบันไดทิพย์ ทั้ง 3 ได้แก่ บันไดเงิน และ บันไดทอง และ บันไดแก้ว ซึ่งสักกเทวราช (พระอินทร์) ให้พระวิษณุกรรมเนรมิตทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่โลกมนุษย์ ที่ ประตูเมืองสังกัสนคร ที่นั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนต่างมารอรับตักบาตรภัตตาหารกันอย่างเนืองแน่นชาวพุทธจึงยึดถือปรากฎการณ์ในวัน แรม1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ เรียก “วันเทโวโรหณะ” และ วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก เพราะวันนั้นโลกทั้ง 3 คือ สวรรค์ มนุษย์ และ บาดาล (นรก) ต่างสามารถแลเห็นกันได้ตลอดทั้ง 3 โลก

ความสำคัญของวันออกพรรษา

วันออกพรรษา เป็นวันสำคัญของพุทธศาสนา ด้วยเหตุผลดังนี้ 

      1. หลังจากวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้รับพระบรมพุทธานุญาตให้จาริกไปค้างแรมที่อื่นได้

      2. เมื่อออกพรรษาแล้วพระสงฆ์จะได้นำความรู้จากหลักธรรมและประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างพรรษาไปเผยแผ่แก่ประชาชน

      3. ในวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้ทำปวารณา เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนเรื่องความประพฤติของตนเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ความเคารพนับถือและความสามัคคีกัน

      4. พุทธศาสนิกชนได้นำแบบอย่างไปทำปวารณาเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าว ตักเตือนตนเองเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตนและสร้างสรรค์สังคมต่อไป

ประวัติความเป็นมาของวันออกพรรษา

     เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตุวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี มีพระภิกษุเหล่านั้นเกรงจะเกิดการขัดแย้งกันจนอยู่ไม่สุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกาว่าจะไม่พูดจากัน (มูควัตร)  เมื่อถึงวันออกพรรษาพระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ แล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า

     “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วปวารณากันในสามลักษณะ คือด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี”
 
 
การถือปฏิบัติวันออกพรรษาในประเทศไทย

     วันออกพรรษาเป็นวันปวารณาของพระสงฆ์โดยตรง ที่จะต้องประชุมกันทำปวารณากรรมแทนอุโบสถกรรม สำหรับพุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ ก็ถือว่าเป็นวันพระสำคัญ มักนิยมไปทำทานรักษาศีลและฟังธรรมเป็นกรณีพิเศษ
 
     นอกจากนี้ ยังมีประเพณีเนื่องด้วยวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “ประเพณีตักบาตรเทโว”
 
วันออกพรรษา 2554
วันออกพรรษา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จลงสู่มนุษย์โลก
ทางบันไดพาดลงใกล้เมืองสังกัสสะ
 
     คำว่า “ตักบาตรเทโว” มาจากคำเต็มว่า “ตักบาตรเทโวโรหณะ”  คือการตักบาตรเนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทบันทึกไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์เป็นคู่ๆ) ที่ต้นมะม่วงใกล้เมืองสาวัตถีแล้วก็เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ 7 บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศนาพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาเป็นเวลา 3 เดือน ครั้นออกพรรษาแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จลงสู่มนุษย์โลกทางบันไดพาดลงใกล้เมืองสังกัสสะ

หลักธรรมที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา

      ในเทศกาลออกพรรษา มีหลักธรรมสำคัญที่ควรนำไปปฏิบัติ คือ ปวารณา การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้ ในการปวารณานี้อาจแบ่งบุคคลออกเป็น 2 ฝ่าย คือ
       1. ผู้ว่ากล่าวตักเตือน จะต้องเป็นผู้มีเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ที่ตนว่ากล่าวตักเตือน เรียกว่ามีเมตตาทางกาย ทางวาจา และทางใจ พร้อมมูล
       
2. ผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือน ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน ดีใจดังมีผู้มาบอกขุมทรัพย์ให้ 
การปวารณา จึงเป็นคุณธรรมสร้างความสมัครสมานสามัคคีและดำรงความบริสุทธิ์หมดจดไว้ในสังคมพระสงฆ์ การปวารณา แม้จะเป็นสังฆกรรมของสงฆ์ ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมชาวบ้าน เช่น การปวารณากันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ในสถานศึกษา ในสถานที่ทำงาน พนักงานในห้างร้าน บริษัทและหน่วยงานราชการ เป็นต้น

 วัตถุประสงค์ของกิจกรรมวันออกพรรษา

     1. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวันออกพรรษารวมทั้งหลักธรรม เรื่อง ปวารณาและแนวทางปฏิบัติ
     2. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีทักษะในการคิดและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในวันออกพรรษา และสามารถเลือกสรรหลักธรรม คือปวารณา ไปใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อพัฒนาตนและสังคม
     3. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเกิดเจตคติที่ดีต่อวันออกพรรษา และเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคือ ปวารณา
     4. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเกิดศรัทธา ซาบซึ้งและตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา
     
5. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีและปฏิบัติตนตามหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนได้อย่างถูกต้อง

วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เชิญชวนชาวอุดรธานีร่วมกิจกรรม Bike For Mom ปั่นเพื่อแม่ 16 สิงหาคม 2558



นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 83 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2558 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชปณิธานที่จะจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีและความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเป็นการแสดงความสามัคคีร่วมกันของประชาชนชาวไทย ด้วยทรงเห็นว่ากิจกรรมปั่นจักรยานเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน และเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคีขอพสกนิกรทุกหมู่เหล่านั้น
รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี จึงขอเชิญชวนชาวจังหวัดอุดรธานีร่วมกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ภายใต้ชื่อกิจกรรม "Bike For Mom ปั่นเพื่อแม่" ของจังหวัดอุดรธานี ในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2558 ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป โดยประชาชนทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมกิจกรรมไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ผู้ลงทะเบียนสมัคร 1,000 คนแรก จะได้รับเสื้อพระราชทานและเข็มกลัดตราสัญลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นที่ระลึก ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.udonthani.go.th/bikeformom และสามารถสมัครลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ http://103.28.101.10/bike_mom/index.php ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป





วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

วันพืชมงคล


วันพืชมงคล 2558 พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตรงกับวันที่ 13 พฤษภาคม พระราชพิธีพืชมงคล มีอะไรบ้าง ประวัติวันพืชมงคลมีความเป็นมาอย่างไร พิธีแรกนาขวัญ คืออะไรเรามีข้อมูลมาฝาก 
          หากเอ่ยชื่อ วันพืชมงคล ภาษาอังกฤษ Royal Ploughing Ceremony แล้วเชื่อว่าหลายคนคงยิ้มแก้มปริเลยทีเดียว เพราะจะได้หยุดเรียน หยุดงาน พักผ่อนอยู่ที่บ้าน เนื่องจากเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่จะมีสักกี่คนรู้รายละเอียด รู้ความหมาย หรือรู้ความเป็นมาเป็นไปของ "วันพืชมงคล"อย่างแท้จริง เอาเป็นว่าเราไปเจาะลึกประวัติและความเป็นมาของ "วันพืชมงคล" กันดีกว่า... 

          วันพืชมงคล หมายถึง วันที่กำหนดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเก่ามาแต่โบราณที่เสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งพระราชพิธีนี้จะกระทำที่ท้องสนามหลวง ประกอบด้วย 2 พระราชพิธีคือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

          พิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัย และให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี

          พิธีแรกนาขวัญ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว

วันพืชมงคล 2557 หรือ พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


 ประวัติวันพืชมงคล

          พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พิธีแรกนา เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ และจะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

          ต่อมา สมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญแทนพระองค์ และมิได้ถือว่าเป็นพิธีหน้าพระที่นั่ง เว้นแต่เมื่อมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร สถานที่ประกอบพิธีในตอนแรก ๆ จึงไม่ตายตัว แล้วแต่จะทรงกำหนดให้ ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้น "พระราชพิธีพืชมงคล"จึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ"

          ส่วนพิธีกรรมนอกเหนือจากการทำให้เป็นตัวอย่าง ตามที่ทรงจำแนกไว้ 3 อย่าง 2 อย่างแรก ที่ว่า "อาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง" นั้น ทรงหมายถึง "พิธีพืชมงคล" อันเป็นพิธีสงฆ์ที่กระทำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่ว่า "บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง" นั้น ทรงหมายถึงพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์ 

          ดังนั้น จึงพอจะสรุปความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นี้ได้ว่าพิธีแรกนามุ่งหมายที่จะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร เพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา อันเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทยที่มีมาแต่ช้านานสืบมาจนปัจจุบันยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น เพราะการเกษตรซึ่งมีการทำนาเป็นหลักนั้น เป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตความเป็นอยู่และการเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย

          ส่วนวันประกอบพิธีนั้น ต้องเป็นวันที่ดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วย ขึ้น แรม ฤกษ์ยาม ให้ได้วันอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์ แต่ต้องอยู่ในระหว่างเดือน 6 เพราะเดือนนี้เริ่มจะเข้าฤดูฝน เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนา เมื่อโหรหลวงคำนวณได้วันอุดมมงคลพระฤกษ์ ที่จะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว สำนักพระราชวังจะได้ลงไว้ในปฏิทินหลวง ที่พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี และได้กำหนดไว้ว่าวันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

          พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแต่เดิมมาทำที่ทุ่งนาพญาไท เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ จึงจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ทั้งนี้ วันแรกนาขวัญเป็นวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้หยุดราชการ 1 วัน และมีประกาศให้ชักธงชาติตามระเบียบทางราชการ

 การประกอบพระราชพิธีวันพืชมงคล

          พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งข้าวที่นำเข้าพิธีพืชมงคลนั้นเป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้มีเมล็ดพืชต่าง ๆ รวม 40 อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว นอกจากนี้ยังมีข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนา บรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง เป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดฯ ให้ปลูกในสวนจิตรลดา และพระราชทานมาเข้าพิธีพืชมงคล

          โดยพันธุ์ข้าวพระราชทานนี้จะใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการจะบรรจุซอง แล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้

          ทั้งนี้ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปัจจุบันนี้ได้ดำเนินตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี เว้นแต่บางอย่างได้มีการดัดแปลงให้เหมาะแก่กาลสมัย อาทิ พิธีของพราหมณ์ก็มีการตัดทอนให้เหลือน้อยลง พระยาแรกนาก็ให้ตกเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีนั้นคัดเลือกจากข้าราชการสตรีโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดับ 3 - 4 คือขั้นโทขึ้นไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระราชพิธีทุกปี มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทูตานุทูต และประชาชนได้มาชมการแรกนาเป็นจำนวนมาก 

          สำหรับการประกอบพิธีนั้นก็จะถูกกำหนดขึ้นโดยโหรหลวง ในระหว่างพิธีอันสวยงามนี้ ก็จะมีการทำนาย ปริมาณน้ำฝน ในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง และแล้วพระยาแรกนาก็จะทำการเลือกผ้า 3 ผืน ที่มีความยาวต่างขนาดกัน ตามชอบใจ ผ้าทั้ง 3 ผืน นี้จะดูคล้ายกัน ถ้าพระยาแรกนาเลือกผืนที่ยาวที่สุดก็ทายว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมีน้อย ถ้าเลือกผืนที่สั้นที่สุดทายว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมาก และถ้าเลือกผืนที่มีความยาวปานกลาง ทายว่ามีปริมาณน้ำฝนพอประมาณ

          หลังจากสวมเสื้อผ้าเรียกว่า "ผ้านุ่ง" เรียบร้อยแล้ว พระยาแรกนาก็จะไถลงไปบนพื้นที่ท้องสนามหลวงด้วยพระนังคัลสีแดงและสีทอง ซึ่งลากโดยพระโคผู้สีขาว ตามขบวนด้วยเทพีทั้ง 4 ผู้ซึ่งหาบกระเช้าทองและกระเช้าเงินที่บรรจุด้วยเมล็ดข้าวเปลือก นอกจากนี้ก็มีคณะพราหมณ์เดินคู่ไปกับขบวนพร้อมทั้งสวดและเป่าสังข์ไปพร้อมกัน

          เมื่อเสร็จจากการไถแล้วพระโคก็จะได้รับการป้อนพระกระยาหารและเครื่องดื่ม 7 ชนิด คือ เมล็ดข้าว ถั่ว ข้าวโพด หญ้าเมล็ดงา น้ำ และเหล้า ไม่ว่าพระโคจะเลือกกินหรือดื่มสิ่งใด ก็ทายว่าปีนี้จะอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งที่พระโคเลือกนั้น 

          เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ประชาชนจะพากันแย่งเก็บเมล็ดข้าวที่หว่านโดยพระยาแรกนา เพราะว่าเมล็ดข้าวนี้ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง ชาวนาก็จะใช้เมล็ดข้าวนี้ผสมกับเมล็ดข้าวของตน เพื่อให้พืชผลในปีที่จะมาถึงนี้อุดมสมบูรณ์

          สำหรับพระโคที่จะเข้าพระราชพิธีแรกนาขวัญ จะถูกเลี้ยงดูอย่างดีในทุ่งหญ้าที่จังหวัดราชบุรี พระโคที่ใช้ในพระราชพิธี จะต้องมีลักษณะที่ดีขาดเกินไม่ได้คือ หูดี ตาดี แข็งแรง เขาทั้งสองตั้งตรงสวยงาม พระโคแต่ละคู่ต้องสีเหมือนกัน ซึ่งจะมีการคัดเลือกพระโคเพียงสองสีเท่านั้น คือ สีขาวสำลีและสีน้ำตาลแดง และเจาะจงแต่เพศผู้เท่านั้นและต้องผ่านการ "ตอน" เสียก่อนด้วย  

          อนึ่ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นวันเกษตรกรประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน 

 กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันพืชมงคล  

          1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ

          2. จัดนิทรรศการ แสดงประวัติความเป็นมา และความสำคัญของวันพืชมงคลรวมทั้งพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

 พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2558   

           สำหรับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระ นังคัลแรกนาขวัญ 2558 นี้ ได้มีการเปิดเผยรายชื่อของผู้ทำหน้าที่เป็นพระยาแรกนา พระโคแรกนา รวมถึงเทพีคู่หาบเงิน และเทพีคู่หาบทองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีรายละเอียด ดังนี้
ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา 2558 คือ 

          - นายชวลิต  ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

เทพีคู่หาบทอง 2558 ได้แก่  
          - นางสาวฑิฆัมพร สุทธิฤทธิ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมการข้าว

        - นางสาวจารุรัตน์ พุ่มประเสริฐ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมวิชาการเกษตร

เทพีคู่หาบเงิน 2558 ได้แก่


          - นางสาวอมรรัตน์ แขวงโสภา นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

          - ว่าที่ร้อยตรีหญิงณฐมน อยู่เล่ห์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ กรมชลประทาน  

พระโคแรกนา และพระโคเสี่ยงทาย 2558 ได้แก่ 

          - พระโคฟ้า และพระโคเลิศ

พระโคสำรอง ได้แก่ 

         - พระโคเพิ่ม และพระโคพูน

พันธุ์ข้าวพระราชทานและพันธุ์พืชที่นำมาใช้ในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

          สำหรับพันธุ์ข้าวพระราชทานที่เตรียมไว้ในพระราชพิธีมีทั้งสิ้น 11 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวนาสวน จำนวน 8 สายพันธุ์ และข้าวไร่ จำนวน 3 สายพันธุ์ 

         นอกจากนี้ ได้เตรียมพันธุ์ข้าว จำนวน 2,520 กิโลกรัม แจกจ่ายให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศที่เดินทางเข้าร่วมงาน เพื่อความเป็นสิริมงคลในวันพระราชพิธีพืชมงคลด้วย

          ทั้งนี้ในการเสี่ยงทายปรากฏว่า พระยาแรกนาหยิบผ้านุ่งได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมาก นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่ 
           ขณะที่พระโคเสี่ยงทาย กินหญ้า กินน้ำ กินงา พยากรณ์ว่าน้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร มังสาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี 

วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

วันฉัตรมงคล

วันฉัตรมงคล

          วันฉัตรมงคล หมายถึง พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตรสิริราชกกุธภัณฑ์ พระแสงประจำรัชกาล ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษกเสวยราชสมบัติตามราชประเพณี (ความหมาย ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕) 

พระราชพิธีฉัตรมงคล

          พระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โดยทรงมีพระดำริว่า วันที่พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกนั้น เป็นมหามงคลสมัยซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินย่อมนับถือวันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามมิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด ครั้งนี้วันบรมราชาภิเษกของพระองค์ตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานได้สมโภชเครื่องราชูปโภคแต่เดิมมา ควรมี่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ จึงได้ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า ฉัตรมงคล นี้ขึ้น การพระราชพิธีฉัตรมงคลเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มนั้น มีสวดมนต์เลี้ยงพระ เวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ 
          ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ การพระราชพิธีฉัตรมงคลได้เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ซึ่งเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิ ตอน ๑ พระราชพิธีฉัตรมงคลซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองที่ได้บรมราชาภิเษกอีกตอน ๑ พระราชพิธีทักษิณานุปทานและพระราชพิธีฉัตรมงคล
          ในปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน ๓ วัน วันแรกตรงกับวันที่ ๓ พฤษภาคม เป็นงานพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย อุทิศถวายแด่พระบรมราชบุรพการี เป็นพิธีสงฆ์ พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์แล้วพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี  
 
          วันที่ ๔ พฤษภาคม เริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล หัวหน้าพราหมณ์ อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เย็น วันที่ ๕ พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล มีงานเลี้ยงพระและสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตอนเที่ยงทหารบก ทหารเรือยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ ๒๑ นัด ในวันนี้จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า แก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานด้วย


ความเป็นมาพระราชพิธีฉัตรมงคล

          ประวัติความเป็นมา พระราชพิธีฉัตรมงคลรัชกาลปัจจุบัน ตรงกับวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงกระทำพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นลำดับที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี จึงถือว่าวันที่ ๕ พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันมงคลสมัย พสกนิกรและรัฐจึงได้ร่วมกันจัดพระราชพิธีขึ้นเรียกว่า รัฐพิธีฉัตรมงคล บ้างก็เรียก พระราชพิธีฉัตรมงคล
          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีเพิ่มการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า อาลักษณ์อ่านคำประกาศ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ชุมนุมถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช เวียนเทียนสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ 
 


การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันฉัตรมงคล

พระราชประวัติ

          สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระราชธิดาองค์เดียวใน
สมเด็จ พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก (สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชกรมหลวงสงขลานครินทร์) และ 
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีีพระนามใน สูติบัตรว่า เมย์

          ปี พ.ศ ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา ปี พ.ศ ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา ปี พ.ศ ๒๔๗๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ ในปี พ.ศ ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาพระอิสริยศักดิ์  เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ จ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

          หลังจากที่ประสูติได้ไม่นานนัก สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงย้ายไปประทับที่เมื่อเซาท์บอลและบอสตัน ในปลายปีที่ประสูติได้เสด็จกลับประเทศไทยพร้อมสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี เมื่อถึงพระนครสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีทรงพระราชทานตำหนักใหญ่  วังสระปทุม  ให้เป็นที่ประทับ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้ตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนกปละพระชนนีไป ประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส

          เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติรัฐบาลในสมัยนั้นเห็นพ้องต้องกันกราบบังคมทูลเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลซึ่งมีพระมายุเพียง ๘ พรรษา และทรงอยู่ลำดับที่ ๑ ในการสืบราชสมบัติตามกฏมณเฑียรว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ.๒๔๗๖ สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงนำพระโอรสและพระธิดาไปประทับที่บ้านซึ่งพระราชทานนามว่า "วิลลาวัฒนา" เมืองปุยยี  ซึ่งระหว่างนั้นสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาทรงเข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษา ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๑ ทรงย้ายไปศึกษาต่อไป เจนีวา ในลักษณะของนักเรียนประจำที่ International School of Geneva ทรงสอบผ่านชั้นสูงสุดได้เป็นที่ ๑ ของโรงเรียน และที่ ๓ ของประเทศ ในปี พ.ศ.๒๔๘๕  ทรงเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ คณะวิทยาศาสตร์สาขาเคมีทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ ในระหว่างนั้นทรงเข้าศึกษาหลักสูตรของสังคมศาสตร์ ครุศาสตร์ ในสาขาวิชาการศึกษาวรรณคดีปรัชญาและจิตวิทยา จึงทำให้ทรงมีความสนพระทัยทางด้านนี้ 

          ในวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล จึงอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชเสวยราชย์ เป็นอันดับที่ ๙ แห่งราชจักรีวงศ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้า กัลยาณิวัฒนาเสด็จนิวัติประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ทรงเข้าสอนประจำในคณะอักษรศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งยังทรงเป็นองค์บรรยายพิเศษด้วย ได้ทรงจัดตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ทรงได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมารมพระองค์แรก นอกจากนี้ยังทรงสนับสนุนโครงการสอนการอ่านแก่เด็กเล็กและโครงการจัดส่งเยาวชนไทยไปแข่งขันโอลิมปิควิชาการด้วย

          ทางด้านการสาธารณสุข ทรงเยี่ยมราษฏรพระราชทานสิ่งของช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ป่วย และผู้ยากไร้ทรงอุปถัมภ์ช่วยเหลืองานของมูลนิธิต่าง ๆ เช่น มูลนิธิไตแห่งประเทศไทย มูลนิธิขา  เทียมในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ทุนการกุศลสมเด็จย่า เป็นต้น นอกจากนี้ในเวลาว่างจะเสด็จเยือนต่างประเทศ ทอดพระเนตรโบราณสถาน โบราณวัตถุทรงพระนิพนธ์หนังสือถึง ๒๕ เรื่อง เกี่ยวกับพระราชวงศ์ ๑๑ เรื่อง พระนิพนธ์แปล ๓ เรื่อง สารคดีท่องเที่ยว ๑๐ เรื่อง บทความวิชาการ ๑ เรื่อง 

          ด้วยพระเกียรติคุณของพระองค์ จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าต่างกรม มีพระนามตามพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ เมื่อ พ.ศ ๒๕๓๘

ข้อมูลจาก : สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ

วันแรงงานแห่งชาติ

วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม

วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น "วันแรงงานแห่งชาติ" เพื่อเป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในคุณภาพ ความเป็นอยู่
ตลอดจนสิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น วันแรงงานแห่งชาติ ประจำประเทศไทย
ในประเทศยุโรป เรียกว่า "วันกรรมกรสากล" หรือ "วันเมย์เดย์" (May Day) ยกเว้นประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา ที่ถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนเป็นวันแรงงาน
1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ วันกรรมกรสากล
วันแรงงานแห่งชาติ เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นวันหยุดแรงงานของสากล เป็นวันระลึกถึงแรงงานไทย มีจุดประสงค์เพื่อ เฉลิมฉลองทั่วโลก ในสังคมของผู้ใช้แรงงาน และ เพื่อเตือนใจผู้ใช้แรงงาน ให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบ และความมั่นคงของอาชีพ อันเป็นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งหน้าที่บริหารแรงงาน อยู่ในความรับผิดชอบของ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ซึ่งมีความสำคัญดังนี้...
» ด้านการจัดหางาน
ช่วยเหลือคนว่างงาน ให้มีงานทำ รวมไปถึง ช่วยเหลือนายจ้าง ให้ได้แรงงานที่มีคุณภาพดี พร้อมประชาสัมพันธ์แหล่งหางาน ตลาดแรงงาน อาชีพ และสภาวะของตลาดแรงงานไทย ในปัจจุบันไปถึงอนาคต
» งานแนะแนวอาชีพ
ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่หางานทำ แนะแนววิธีการประกอบอาชีพ ที่เหมาะสมกับความรู้ที่แรงงานมี ตามความสามารถ และความชอบ รวมไปถึงให้คำแนะนำในเรื่องของ รายได้ และความต้องการแรงงานในตลาดแรงงาน
» การพัฒนาแรงงาน
ส่งเสริม และสนับสนุน ให้แรงงาน หรือผู้ที่ต้องการมีความรู้ ได้มีโอกาสศึกษาต่อ ทั้งภาควิชาชีพ และภาควิชาการ อย่างครบถ้วน
» งานคุ้มครองแรงงาน
ทบทวนเรื่องกฏหมาย ชั่วโมงทำงาน ความเหมาะสมของรายได้ที่แรงงานควรได้รับ วันหยุดงาน รวมไปถึงสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ที่แรงงานควรได้รับ
» งานแรงงานสัมพันธ์
เป็นคนกลางในการแก้ปัญหา ความขัดแจ้ง ระหว่างนายจ้าง และลูกจ้าง รวมไปถึงช่วยยุติข้อขัดแจ้งที่เกิดขึ้น และส่งเสริม สร้างสรรค์กิจกรรม ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างนายจ้าง และลูกจ้าง